ศาสตราจารย์โชติ สุวัตถิ นับเป็นนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในด้านสัตว์น้ำและพรรณพืชคนหนึ่งของประเทศไทย มีผลงานศึกษา วิจัย และอนุกรมวิธานสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เช่น ปลาปักเป้าควาย (Tetraodon suvatti) ก็ได้รับการตั้งชื่อสายพันธุ์ (Species) เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน อีกทั้งยังเป็นผู้ชำนาญการวาดภาพประกอบทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย (Scientific drawing) มีผลงานหนังสือที่ยังใช้อ้างอิงมาจนถึงปัจจุบัน เช่น Fishes of Thailand, Flora of Thailand—old and new, and night and day: Flora of Thailand และ กล้วยไม้เมืองไทย โชติ สุวัตถิ รวบรวม เป็นต้น
ศาสตราจารย์โชติ เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 ที่อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี เป็นบุตรชายของไซ้ และนางเซ็ง สุวัตถิ จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2464 ได้รับพระราชทุนการศึกษาจากทุนพระบรมราชชนก (ปัจจุบันคือทุนอานันทมหิดล) ศึกษาต่อด้านเกษตรศาสตร์ จาก มหาวิทยาลัยคอร์แนล ประเทศสหรัฐอเมริกา ในด้านวิชาการ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระหว่างปี พ.ศ. 2505 - พ.ศ. 2509 คนที่สอง ต่อจากศาสตราจารย์บุญ อินทรัมพรรย์ ผู้ก่อตั้ง และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2508
ศาสตราจารย์โชติได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่กรรมการปรับปรุงพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2493 เมื่อปี พ.ศ. 2520 ด้วย เพื่อให้ทำการชำระนิยามศัพท์ทางด้านชีววิทยาด้วย ซึ่งปัจจุบันทางคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ยกย่องเกียรติคุณของศาสตราจารย์โชติด้วยการตั้งชื่ออาคารหลังที่ 2 ของคณะว่า "อาคารโชติ สุวัตถิ"